Former Thai Prime Minister Thaksin Shinawatra waves to his supporters after his return to Thailand at the private jet terminal at Don Mueang airport in Bangkok August 22, 2023. Photo: Chaiwat Subprasom, Shutterstock
ทักษิณ : จากนักการเมืองประชานิยมสู่ผู้นำมากด้วยบารมี (Strongman)
ขณะที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ การกระทำใด ๆ ของตัวแสดงทางการเมืองโดยเฉพาะทักษิณและพรรคประชาชนจะมีผลต่ออนาคตของประชาธิปไตยในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้
โดย Prem Sign Gill, September 1, 2024
คำถามสำคัญคือ ทักษิณจะกลายเป็นผู้นำมากด้วยบารมี (strongman) จากการเป็นพันธมิตรกับพรรคที่ทหารสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และการหักหลังต่อจุดยืนของตัวเองในการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยเฉพาะในประเด็นอ่อนไหวอย่างการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ใช่หรือไม่ การกีดกันพรรคก้าวไกลไม่ให้เป็นรัฐบาลก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เขาสามารถใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้เพื่ออำนาจของเขาหรือไม่ คำถามดังกล่าวตั้งขึ้นมาเพื่อหาทางออกปัญให้กับปัญหาความวุ่นวายในการเมืองไทยในปัจจุบัน เรื่องนี้ทำให้ย้อนกลับไปพิจารณาว่า การกลับมาสู่การเมืองไทยของทักษิณมีแรงจูงใจและผลลัพธ์อะไรที่น่าจะเกิดขึ้นได้บ้าง
จากนักการเมืองประชานิยมสู่ผู้อยู่เบื้องหลังการเมืองไทย
การที่ทักษิณชินวัตรได้กลับบ้านได้หลังจากลี้ภัยนานกว่า 15 ปีได้สั่นสะเทือนภูมิทัศน์การเมืองไทยเป็นอย่างมาก การกลับมาของเขาเกิดขึ้นพร้อมกับการเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยจากการเป็นพันธมิตรของพรรคที่ทหารอยู่เบื้องหลัง สิ่งนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญของพลวัตทางการเมืองไทย พัฒนาการนี้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับอนาคตของการปฏิรูปประชาธิปไตยในประเทศไทยโดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขกฎหมายที่เป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์และบทบาทของพรรคก้าวไกลในฐานะพลังใหม่ของการเมืองแบบก้าวหน้าในประเทศนี้
หากเราต้องการจะทำความเข้าใจต่อความสำคัญของสถานการณ์นี้ เราจำเป็นต้องพิจารณาถึงประวัติศาสตร์การเมืองของทักษิณและบริบททางการเมืองที่ทำให้เขาได้กลับบ้านเสียก่อน ทักษิณเข้าสู่อำนาจครั้งแรกในปี 2001ด้วยนโยบายเชิงประชานิยม ซึ่งทำให้เขาสามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนชนบทและชนชั้นแรงงาน นโยบายของเขา เช่น โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและโครงการกองทุนหมู่บ้านทำให้เข้าได้รับเสียงสนับสนุนจากคนไทยจำนวนมากจากนโยบายเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่อำนาจของเขาก็ถูกโจมตีด้วยการถูกกล่าวหาว่ามีการคอร์รัปชัน, ละเมิดสิทธิมนุษยชนและพยายามทำทุกอย่างเพื่อกระชับอำนาจของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาถูกบีบให้ออกจากอำนาจจากการรัฐประหารในปีค.ศ.2006
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การเมืองไทยได้ถูกนิยามว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนทักษิณและชนชั้นนำดังเดิม เช่น ทหารและชนชั้นนำฝ่ายนิยมเจ้า ความขัดแย้งนี้นำไปสู่การรัฐประหาร, การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ และช่วงไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างยาวนาน ตลอดช่วงเวลานี้ ทักษิณยังถูกมองว่าเป็นคนที่สร้างการแบ่งขั้วทางการเมือง เพราะเขาถูกมองว่าเป็นเสมือวีรบุรษของคนจน แต่เป็นภัยคุกคามต่อโครงสร้างอำนาจของชนชั้นนำดั้งเดิม
พรรคประชาชน : ป้อมปราการสุดท้ายของการปฏิรูปประชาธิปไตย ?
การขึ้นมาของพรรคอนาคตใหม่ในค.ศ. 2018 ซึ่งภายหลังจะกลายเป็นพรรคก้าวไกลและปัจจุบันคือพรรคประชาชนได้ทำให้เกิดพลังฝ่ายก้าวหน้าแบบใหม่ในการเมืองไทย วาระของพรรคนี้ทั้งการปฏิรูปกองทัพและสถาบันกษัตริย์ทำให้สามารถสร้างแนวร่วมกับเยาวชนไทยได้เป็นจำนวนมาก จุดยืนของเขาที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์) กลายเป็นแกนสำคัญของนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงและเป็นปัจจัยสำคัญต่อชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคนี้
กฎหมายที่สามารถทำลายประชาธิปไตยได้
กฎหมายอาญามาตรา112 หรือที่รู้จักกันในนามกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์เป็นประเด็นที่ถกเถียงในการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน กฎหมายดังกล่าวเป็นการทำให้การวิพากษ์วิจารณ์กลายเป็นอาชญากรรม เนื่องจากการที่โทษของมันสูงถึง 15 ปีทำให้ให้องค์กรสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตยวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ามันคือเครื่องมือที่ใช้เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างและจำกัดสิทธิเสรีภาพ การที่พรรคประชาชนเสนอปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวในการเลือกตั้งเมื่อค.ศ. 2023 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาได้รับที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งดังกล่าว ทว่า เรื่องนี้ก็ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการจัดตั้งรัฐบาลของเขา เนื่องจากพลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมขวางไม่ให้รัฐบาลจัดตั้งได้สำเร็จ
การกลับมาของทักษิณภายใต้สภาวะการเมืองแบบนี้ และการที่พรรคของเขาร่วมมือกับพรรคที่ทหารอยู่เบื้องหลังนำไปสู่คำถามเกี่ยวกับจุดยืนทางการเมืองในปัจจุบันของเขาโดยเฉพาะประเด็นเรื่องมาตรา112 การที่ทุกวันนี้ทักษิณได้กลายเป็นฝ่ายเดียวกับฝ่ายอำนาจเก่าจากเดิมที่เขาถูกมองว่เป็นความท้าทายต่อโครงสร้างอำนาาจแบบดั้งเดิมจะทำให้อิทธิพลทางการเมืองของเขากลับมาหรือไม่ สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือพันธมิตรใหม่ทางการเมืองนี้ที่ต้องการคงสถานะของกฎหมายอาญามาตรา112 จะเป็นการกีดกันพรรคก้าวไกลออกจากอำนาจหรือไม่ และจะทำให้วาระปฏิรูปการเมืองแบบนี้หายไปจากการเมืองไทยหรือไม่
เมื่อมองจากบริบทดังกล่าวทำให้ความเชื่อที่มองทักษิณในฐานะผู้มีอำนาจที่มากด้วยบารมีกลับมาถูกอีกครั้ง ตลอดการครองอำนาจของทักษิณ เขาถูกฝ่ายที่วิจารณ์โจมตีเขาว่า ลักษณะความเป็นผู้นำของเขามีรูปแบบอำนาจนิยม และเขาก็ถูกกล่าวหาว่า ตลอดช่วงเวลาที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี เขาทำทุกอย่างเพื่อกระชับอำนาจและลดทอนความสำคัญของสถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตย การกลับมาของเขาและการรวมกับฝ่ายอำนาจเก่าที่มีความแตกแยกภายในอาจจะถูกมองได้ว่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับเขาในการฟื้นคืนอำนาจในการควบคุมการเมืองไทยแบบที่เขาเคยมีโดยที่มีศัตรูเก่าของเขาทั้งกองทัพและฝ่ายชนชั้นนำกษัตริย์นิยมหนุนหลังเขาอยู่
ความเป็นไปได้ที่ทักษิณจะเปลี่ยนแปลงจากผู้นำประชานิยมสู่ผู้นำอำนาจนิยมที่ร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญของการเมืองไทย มันบ่งชี้ว่ากระบวนการประชาธิปไตยของไทยอาจจะเผชิญกับสภาวะถดถอยโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นกษัตริย์อาจจะถูกทำให้หายไป หรือแม้กระทั่งถูกค้านอย่างหนักจากพันธมิตรใหม่ที่เกิดขึ้น พัฒนาการแบบนี้ยิ่งทำให้คนที่มองว่าพรรคเพื่อไทยและทักษิณเป็นพันธมิตรฝ่ายประชาธิปไตยผิดหวังในตัวทักษิณมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
สมรภูมิอันแสนท้าทายของพรรคประชาชน พวกเขาจะก้าวข้ามเงาของทักษิณได้หรือไม่
พันธมิตรระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคที่ทหารอยู่เบื้องหลังสะท้อนภาพความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่พรรคประชาชนต้องเผชิญ และที่สำคัญประเด็นปฏิรูปการเมืองต่าง ๆ ก็ยิ่งท้าทายมากยิ่งขึ้น ประเด็นนี้ได้สร้างกลุ่มทางการเมืองใหม่ (political bloc) ที่สามารถขวางวาระต่าง ๆ ของพรรคประชาชได้โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวอย่างเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา112 สถานการณ์ทางการเมืองของไทยในปัจจุบันทำให้ย้อนไปถึงสถานการณ์ในประเทศอื่นที่ผู้นำประชานิยมประนีประนอมกับฝ่ายอำนาจเก่าเพื่อให้พวกเขาได้ครองอำนาจ แต่สิ่งนี้ก็แลกมากลับการละทิ้งประเด็นปฏิรูปที่ก้าวหน้า เช่น ปากีสถาน เมื่อมีการการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากการปกครองโดยทหาร เรามักจะเห็นการประนีประนอมเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและอำนาจของเครือข่ายผู้นำมากกว่าจะสนใจเรื่องการปฏิรูปประชาธิปไตย หรือในอิตาลี Silvio Berlusconi ได้กลับเข้าสู่อำนาจหลายครั้ง แม้ว่าเขาจะมีปัญหาทางด้านกฎหมายและมีข่าวฉาวมากมาย แต่เขารอดมาได้เพราะว่าเขาสามารถเป็นพันธมิตรได้กับหลายมุ้งทางการเมือง และเมื่อใดที่เขาได้ประนีประนอมกับมุ้งการเมืองอื่น ๆ สิ่งนั้นมักจะทำให้วาระการปฏิรูปการเมืองหายไป
คำถามหลักตอนนี้คือ พรรคก้าวไกลจะสามารถต่อกรกับความจริงทางการเมืองแบบนี้ได้อย่างไร และจะสามารถผลักดันการปฏิรูปประชาธิปไตยได้หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับมาตรา112 ยุทธศาสตร์ของพวกเขาต่อเรื่องนี้ต้องทำให้ซับซ้อน มีหลายแง่มุมและที่สำคัญที่คือพวกเขายังต้องรักษาความต่อเนื่องของจุดยืนทางการเมืองแบบนี้ พรรคประชาชนต้องทำให้คำมั่นสัญญาของเขาต่อประเด็นปฏิรูปกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์แข็งแกร่งขึ้นด้วยการทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นวาทะหลักที่ถกเถียงกันในระดับชาติ การที่จะทำแบบนั้นได้ พวกเขาต้องทำให้ตัวเองแตกต่างจากพรรคเพื่อไทยที่มีจุดยืนประนีประนอมและต้องพยายามดึงดูดคนที่เคยเลือกพรรคเพื่อไทย แต่ผิดหวังกับการที่พรรคเพื่อไทยละทิ้งจุดยืนปฏิรูปการเมืองให้หันมาเลือกพรรคประชาชนให้ได้
ยิ่งไปกว่านั้น พรรคประชาชนควรเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นถึงความไม่ตรงไปตรงมาของทักษิณที่ไปร่วมมือพรรคที่ทหารอยู่เบื้องหลัง พวกเขาสามารถกล่าวได้ว่า พันธมิตรใหม่นี้คือการหักหลังต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งแต่ก่อนทักษิณถูกมองว่าเป็นวีรบุรุษนักประชาธิปไตยที่เป็นตัวแทนของเสรีภาพในการแสดงออกและการปฏิรูปการเมือง พรรคประชาชนควรสานต่อความสำเร็จของเขาจากเดิมที่สามารถดึงดูดใจคนรุ่นใหม่และคนเมืองไปสู่คนรากหญ้า โดยเฉพาะคนชนบทที่เคยเป็นผู้สนับสนุนหลักของพรรคเพื่อไทย สิ่งนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับการสร้างความเข้าใจกับประชาชนกลุ่มนี้ให้เข้าใจถึงความสำคัญของการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 และเชื่อมโยงประเด็นนี้กับประเด็นที่ใหญ่กว่าอย่างการปฏิรูปประชาธิปไตยของไทย
อนาคตประชาธิปไตยไทยกำลังอยู่บนความเสี่ยง
พรรคประชาชนที่อยู่ในฐานะพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดในสภาสามารถใช้ตำแหน่งของพวกเขาในการเสนอประเด็นการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ด้วยการเสนอประเด็นนี้เข้าสู่สภาและทำให้ประเด็นนี้อยู่ในสายตาสาธารณชนพวกเขายังสามารถหาการสนับสนุนจากนานาชาติเพื่อสนับสนุนจุดยืการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นกษัตริย์โดยการเน้นย้ำว่ากฎหมายดังกล่าวถูกใช้เพื่อปราบปรามความคิดเห็นที่แตกต่างและเป็นการละเมิดสิทธิมนุุษยชน แรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศอาจจะทำให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยจะถูกวิพากษ์อย่างหนัก หากเพื่อไทยยังคงรักษาสถานะของกฎหมายอาญามาตรา112 ให้เป็นเหมือนเดิม
พรรคประชาชนควรสร้างพันธมิตรให้กว้างขวางมากขึ้นโดยร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม, นักวิชาการ และตัวแสดงทางการเมืองอื่น ๆ สนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา112 เพื่อสร้างพันธมิตรในการต้านกฎหมายที่ขัดขวางเสรีภาพในการแสดงออก การพัฒนายุทธศาสตร์ทางสื่อเพื่อต่อกรกับโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายรัฐบาลจะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก สิ่งนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับการใช้โซเยีชลมีเดีย, สื่ออิสระ และสื่อระหว่างประเทศเพื่อทำให้ประเด็นการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นกษัตริย์อยู่ในความสนใจของสาธารณชน
ธาตุแท้ของทักษิณและการต่อสู้เพื่ออนาคตของประเทศไทย
อนาคตทางการเมืองที่กำลังจะมาถึง ไม่ว่าจะกี่เดือนหรือกี่ปีจะตัดสินว่าประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางใด ระหว่างประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นยั่งยืนหรือจะยังคงติดกับดักวงจรอุบาศว์ที่วนเวียนอยู่กับการเมืองที่ไร้เสถียรภาพและการควบคุมของเผด็จการ ชะตากรรมของกฎหมายอาญามาตรา112 และประเด็นที่ใหญ่กว่าอย่างการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเป็นตัวชี้วัดว่าประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางใด ถ้าทักษิณและรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยยังคงสถานะของกฎหมายหมิ่นกษัตริย์ไว้ดังเดิม มันอาจจะเกิดสัญญาณที่ไม่ดีสำหรับการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปการเมืองและความตั้งมั่นของพลังอนุรักษ์นิยม การที่ทักษิณทำแบบนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้สนับสนุนทักษิณผิดหวัง แต่มันยังเป็นการโดดเดี่ยวประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ใช้การเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศเมื่อปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้ยังถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับพรรคประชาชนที่จะสถาปนาตัวเองให้พรรคนี้เป็นตัวแทนที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียวที่มีจุดยืนปฏิรูปการเมืองที่ชัดเจนโดยเฉพาะจุดยืนต่อกฎหมายอาญามาตรา112 ของรัฐบาลใหม่ จุดยืนเข่นนี้อาจทำให้พวกเขาสามารถชนะใจคนที่ผิดหวังจากพรรคเพื่อไทย และที่สำคัญชุมชนระหว่างประเทศจะยังคงจับตาประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด การจัดการปัญหาเรื่องกฎหมายหมิ่นสถาบันจะไม่ได้มีนัยยะสำคัญต่อแค่พัฒนาการประชาธิปไตยในไทย แต่ยังมีผลต่อสะเทือนต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในภาพรวม การต่อสู้เรื่องมาตรา112 เป็นประเด็นที่มากกว่าแค่ประเด็นทางการเมืองในประเทศ แต่มันสะท้อนภาพแชสอแนวโน้มของภูมิภาคนี้ที่ขัดแย้งกันเองอยู่ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเปลี่ยนไปสู่ระบอบที่ปกครองแบบอำนาจนิยมมากขึ้น หรือประชาธิปไตยจะแข็งแกร่งและตั้งมั่นยิ่งขึ้น
ดังนั้น คำถามว่าทักษิณ ชินวัตรจะกลายเป็นผู้นำมากบารมีจากการที่กลายเป็นพันธมิตรกับพลังฝ่านอนุรักษ์นิยมเพื่อกันก้าวไกลออกจากอำนาจจากเรื่องกฎหมายอาญามาตรา112 ได้หรือไม่ยังเป็นเรื่องที่ซับซ้อน สิ่งนี้สะท้อนความซับซ้อนและธรรมชาติของความขัดแย้งในการเมืองไทยที่มีการเปลี่ยนพันธมิตรและหลอมรวมอุดมการณ์เพื่อเข้าสู่อำนาจ พรรคประชาชนเจอกับความท้าทายที่สำคัญในค้นหาหนทางเพื่อเดินไปกับภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่ แต่จุดยืนเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยของพวกเขา รวมถึงการแก้ไขมาตรา112 ยังให้พวกเขามีแนวทางที่เดินไปข้างหน้าได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ผลลัพธ์สุดท้ายของการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การปรับตัวของภาคประชาสังคม การที่เยาวชนยังมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง และความสามารถของพรรคประชาชนในการกดดันรัฐบาลให้กระทำอะไรบางอย่างได้ ขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังจำเป็นต้องขยายฐานสนับสนุนของเขาให้ได้ ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ทุกการกระทำของทุกตัวแสดงทางการเมืองโดยเฉพาะฝ่ายทักษิณและพรรคประชาชนจะมีผลต่ออนาคตของประชาธิปไตยไทยในไม่กี่ปีที่จะถึง
Prem Singh Gill
Prem Singh Gill Gill เป็น visiting scholar ที่ Universitas of Muhammadiyah Yogyakarta และที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์