112Watch Current Sitation Thailand

คดี112 เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ

ปัญหาความขัดแย้งของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ได้เป็นเพียงการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีการถกเถียงกันในวงกว้างระดับนานาชาติอีกด้วย

โดยมีปฏิกิริยาสองประเภทจากประชาคมระหว่างประเทศต่อการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ประการแรก  ในมุมมองในเชิงวิพากษ์วิจารณ์จากรัฐประเทศฝั่งตะวันตก องค์กรระหว่างประเทศ สังคมวิชาการและสื่อต่างประเทศ และท่าทีที่หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศเพื่อนบ้านของไทย แต่ถึงแม้ประเทศฝั่งตะวันตกและ องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ จะมีท่าทีที่จริงจังต่อปัญหากฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ปัญหาดังกล่าวก็ไม่ได้มีท่าทีที่จะดีขึ้น อันที่จริง นับตั้งแต่เกิดการประท้วงทั่วประเทศในไทยเมื่อกลางปี ​​2563 คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้สร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอันแลวร้ายในประเทศ คนไทยจำนวนมากถูกจับกุมและเว็บไซต์นับพันที่ถูกมองว่าดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกปิดตัวลง (ซึ่งรวมถึงกรณีของ Royalist Marketplace)

ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีการลงโทษสำหรับการละเมิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่รุนแรงที่สุดในโลก การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือความผิดเกี่ยวกับการสร้างความเสียหายต่อราชวงศ์ ถูกกำหนดโดยกฎหมายอาญามาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของไทยซึ่งระบุว่าความคิดเห็นที่หมิ่นประมาท  ดูหมิ่น หรือข่มขู่พระมหากษัตริย์ พระราชินี และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีโทษจำคุก 3-15 ปี ทั้งหมดทั้งมวลช่างตรงข้ามกับคำกล่าวที่ว่า นี่คือประเทศที่คนส่วนใหญ่ มีความเคารพอย่างสูงต่อกษัตริย์ของพวกเขาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณาและการให้อภัย

112 Watch Logo

การประท้วงในปี 2563

กฎหมายอาญามาตรา 112 ของประเทศไทย มีลักษณะขัดแย้งกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกพื้นฐาน รัฐบาลไทยจะต้องยุติการพิจารณาคดีอาญาภายใต้กฎหมายอาญามาตรา 112 และยกเลิกกฎหมายมาตรานี้โดยสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2563 ได้เกิดการประท้วงทั่วประเทศที่นำโดยกลุ่มเยาวชนรักประชาธิปไตย โดยเป็นการประท้วงเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ เรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรวมถึงยุติการคุกคามนักกิจกรรมและผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล (ผู้ลี้ภัยที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์หลายคนถูกสังหาร หรือถูกบังคับให้สูญหายในขณะที่กำลังลี้ภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของไทย) หลังจากที่ขบวนการเยาวชนเริ่มจุดติด ผู้ประท้วงก็เริ่มตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผย ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย นักกิจกรรมเรียกได้ร้องให้ลดพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในไทยได้โพสต์เกี่ยวกับเรื่องที่กษัตริย์ไทยที่ใช้เวลาอยู่ต่างประเทศมากกว่าอยู่ในประเทศไทย และผู้ประท้วงต่างก็ได้แต่งตัวล้อเลียนกษัตริย์ไทย แต่เมื่อในเวลาที่สถาบันกษัตริย์ถูกแตะต้อง กฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ถูกใช้ให้กลายเป็นอาวุธทันที

เริ่มแรก หน่วยงานราชการพยายามที่จะหยุดยั้งการเคลื่อนไหวประท้วง และกดดันให้ยุติการพูดคุยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ผ่านการใช้งานกฎหมายมาตราต่างๆ และพร้อมใช้กำลังเข้าทำร้ายผู้ชุมนุมเพื่อยุติการประท้วง แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเหล่านี้ไม่ได้ทำให้รัฐบาลประสบความสำเร็จ และรัฐบาลก็เริ่มบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นอาวุธอีกครั้ง ในเดือนพฤศจิกายน 2563 นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศว่า รัฐบาลพิจารณาที่จะแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับผู้ประท้วง ถือเป็นจุดสิ้นสุดของการไม่บังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ทางพฤตินัยที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลา 3 ปี (มีการยุติการใช้งานมาตรา 112 เป็นการชั่วคราวตามประสงค์ของกษัตริย์วชิราลงกรณ์ที่ต้องการรักษาไว้ซึ่งภาพลักษณ์ที่ดีของสถาบันกษัตริย์) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้แจ้งว่า นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา ตำรวจได้เริ่มการสืบสวนสอบสวนบุคคลอย่างน้อย 59 คนด้วยการใช้อำนาจของกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยส่วนมากเป็นนักกิจกรรมที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวประท้วง และหลายคนถูกตั้งข้อหาหลายกระทง ซึ่งถ้าหากถูกสั่งฟ้องและถูกตัดสินว่ามีความผิด ก็อาจจะทำให้โดนขังคุกเป็นเวลานานนับทศวรรษ

หนึ่งในกรณีที่น่าสนใจคือคดีของพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ ที่ได้ตกเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอันเนื่องมาจากได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยสงบ ทางตำรวจได้ออกหมายเรียกพิมพ์สิริ เพราะพิมพ์สิริได้อ้างอิงถึงคำกล่าวของผู้แทนองค์การสหประชาชาติในการชุมนุมประท้วงครั้งนั้น เกี่ยวกับการสนับสนุนและการคุ้มครองสิทธิการแสดงความเห็นโดยเสรี และเห็นว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นไม่สอดรับกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล

ในเดือนมกราคม 2564 ศาลได้พิพากษาบุคคล 2 คน ว่ามีความผิดจากการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาที่ว่า ทั้งคู่ดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ในช่วงปีก่อนหน้านั้น นอกจากนั้น ยังมีอีกคดีหนึ่งที่ศาลแขวงกรุงเทพได้พิพากษาลงโทษข้าราชการตัดสินให้จำคุก 43 ปี ภายใต้อำนาจกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการที่ข้าราชการผู้นั้นได้รีโพสต์วิดีโอลงเฟซบุ๊คและยูทูป ในขณะนี้ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยส่วนมากได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากเดือนพฤศจิกายนปี 2563 และยังอยู่ในช่วงขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน และผู้ถูกตั้งข้อหาบางส่วนยังคงมีเสรีภาพอยู่

แต่อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องนักกิจกรรมที่ 4 คนด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 และกฎหมายอาญามาตรา 116 ว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น และเริ่มแรก ศาลอาญากรุงเทพฯ ได้ปฏิเสธการประกันตัว แต่ภายหลังได้ยอมให้ประกันตัวอย่างมีเงื่อนไข กฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นไม่เป็นไปตามบทบัญญัติข้อที่ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และถึงแม้ว่าสามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกเพื่อคุ้มครองการหมิ่นประมาทก็ตาม แต่บทลงโทษทางอาญานั้น ไม่ได้มีลักษณะเหมาะสมต่อความเสียหายที่เกิดจากการหมิ่นประมาทเลย นอกจากนั้น กฎหมายยังให้การคุ้มครองพิเศษแก่ประมุขรัฐและข้าราชการระดับสูง ซึ่งเป็นสิ่งขัดแย้งต่อหลักการประชาธิปไตยพื้นฐานที่รัฐบาลจะต้องถูกตรวจสอบได้โดยสาธารณะ ผู้ชำนาญการและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้ย้ำเตือนบ่อยครั้งมากเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมทั้งยังได้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกกฎหมายมาตรานี้อีกด้วย แต่ทว่า การเรียกร้องนั้นไม่ได้มีความเสมอต้นเสมอปลายเท่าที่ควร

วิกฤตที่ดำเนินอยู่ต่อไป

สหพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (จากข้อมูลเดือนมิถุนายน 2564) ได้ยืนยันว่า จำนวนของบุคคลที่ถูกสั่งฟ้องด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้มีจำนวนถึง 100 รายแล้ว และคดีโดยส่วนมากนั้นเกิดขึ้นมาจากการแสดงออกทางการเมืองออนไลน์ และการเข้าร่วมกับการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสงบสุขที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาระหว่างเดือนสิงหาคม 2563 และเดือนมีนาคม 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รวบรวมข้อมูลและพบว่า ในระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2554 มีบุคคลถูกตั้งข้อหาด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) แล้วถึง 100 ราย และในจำนวนนี้ 8 รายเป็นเพียงเยาวชน (ในที่นี้คือบุคคลที่อายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์) กฎหมายอาญามาตรา 112 ได้กำหนดโทษจำคุกให้แก่ผู้ที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  บุคคลผู้มีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 จะต้องต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี

หลังจากที่ได้หยุดใช้มาตรา 112 เป็นเวลา 2 ปี ในเดือนพฤศจิกายน 2563 รัฐบาลก็ได้ดำเนินการสั่งฟ้องและจับกุมผู้ต้องสงสัยด้วยกฎหมายอาญามาตรานี้อีก เพื่อเป็นการกดดันให้หยุดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วประเทศที่ดำเนินมาเกือบตลอดทั้งปี 2563 ในระหว่างการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น ผู้ชุมนุมประท้วงได้ก้าวข้ามประเด็นต้องห้ามยาวนานในการเมืองไทย ซึ่งก็คือการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผย และเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งการเริ่มบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นระลอกที่สองนี้ เป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาต้องการนำกลับมาใช้ และได้ประกาศในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ว่า รัฐบาลจะบังคับใช้ “กฎหมายและพระราชบัญญัติทุกฉบับ” กับแกนนำและผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย หลังจากที่ประยุทธ์ได้ประกาศ หน่วยงานราชการก็เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อสั่งฟ้อง จับกุม กักขังนักกิจกรรมและผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ ที่ได้วิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยอย่างเปิดเผยในระหว่างการชุมนุมรวมทั้งในช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ และพุ่งเป้าหมายเป็นพิเศษไปที่นักกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยคนสำคัญ บางคนถูกตั้งข้อหาหลายข้อหาภายใต้กฎหมายอาญา 112 จากหลายกรณี ซึ่งสามารถส่งผลให้ถูกจำคุกได้เป็นเวลายาวนานมาก

ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายรายต่างถูกศาลปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะทั้งในระหว่างการสืบสวนสอบสวนหรือในระหว่างการรอไต่สวน นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ทางการได้กักขังบุคคลอย่างน้อย 17 รายที่ต้องสงสัยว่าละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และถึงแม้ว่าในเดือนมิถุนายน 2564 ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทุกคนจะได้รับการประกันตัวแล้วก็ตาม แต่หลายคนได้รับการประกันตัวอย่างมีเงื่อนไขว่าจะไม่เข้าร่วมในกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์ และจะต้องไม่เข้าร่วมในกิจกรรมที่ไม่เป็นการยุยงปลุกปั่น

หลังจากการเริ่มบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในระลอกที่สองนี้ รัฐบาลไทยก็ได้ลงโทษจำคุกตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีระยะเวลาจำกัดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในคดีหนึ่ง ในวันที่ 19 มกราคม 2564 ศาลอาญากรุงเทพฯ ได้ลงโทษจำคุกอัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการอายุ 65 ปีเป็นเวลา 87 ปี จากข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 29 กระทงที่เกิดจากการโพสต์ออนไลน์ และได้ลดโทษจำคุกเหลือ 13 ปีกับอีก 6 เดือนจากการรับสารภาพผิดของอัญชัญ

โดย 1 วันก่อนหน้านั้น ศาลอาญากรุงเทพฯ ได้ลงโทษจำคุกสิรภพ กรณ์อรุษ ผู้เป็นนักเขียนและกวี ในโทษหมิ่นพระบรมเดชานุภาจากบทความและกวีออนไลน์ของตนเอง สิรภพถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 4 ปีกับอีก 6 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม สิรภพได้ถูกปล่อยตัวได้ทันทีหลังจากศาลตัดสินพิพากษา เพราะว่าสิรภพได้ถูกกักขังเป็นเวลา 4 ปี 11 เดือนแล้วในช่วงก่อนการไต่สวนนับจากที่โดนจับในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 และในวันที่ 24 เมษายน 2562 คณะทำงานด้านการกักขังโดยมิชอบ (WGAD) ขององค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศว่าการกักขังสิรภพนั้น เป็นการกักขังตัวโดยมิชอบ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติได้แถลงข้อกังวลเกี่ยวกับการตั้งข้อหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนั้นยังได้เรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

112 Watch ขอร่วมกับ FIDH และ TLHR ยืนยันข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการกักขัง จับกุม และตั้งข้อหาบุคคลที่เพียงใช้สิทธิพื้นฐานอันชอบธรรมของตนเองในการแสดงความคิดเห็นและในการแสดงออก นอกจากนั้น FIDH และ TLHR ยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อให้มีความสอดรับต่อพันธกรณีสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่อยู่ภายใต้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) อีกด้วย หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมโปรดไปที่ https://www.fidh.org/en/region/asia/thailand/lese-majeste-epidemic-reaches-new-milestone.

Bangkok, August 2020. Thousand of student gathered to call for a dissolution of parliament. Photo: kan Sangtong / Shutterstock.com
Bangkok, August 2020. Thousand of student gathered to call for a dissolution of parliament. Photo: kan Sangtong / Shutterstock.com

 

Site artwork by PrachathipaType

Contact Us  |  © 2022, 112Watch | Privacy Policy

Scroll to Top