Thailand Constitutional Court

ศาลรัฐธรรมนูญไทยกำลังคุกคามประชาธิปไตยด้วยความเงียบงัน

ความล้มเหลวของศาลที่จะทำหน้าที่อย่างโปร่งใสและเป็นธรรมอาจจะสร้างหายนะให้กับหลักการประชาธิปไตยของประเทศไทย
Prem Singh Gill – August 10, 2024

ภูมิทัศน์ทางการเมืองของไทยถูกมองว่าอยู่ในภาวการณ์สร้างสมดุลระหว่างการเทิดทูนสถาบันกษัตริย์กับการยืนยันในหลักการประชาธิปไตย ซึ่งภาวะสมดุลที่ค่อย ๆ อ่อนไหวขึ้นทุกที ทว่า คำถามที่น่าจะเกิดขึ้นไม่ช้าและเป็นแรงกดดันต่อภาวะสมดุลนี้คือ “การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนต่อกรณีการยุบพรรคก้าวไกลจากกรณีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เผยให้เห็นถึงปัญหาในเชิงระบบที่กำลังคุกคามประชาธิปไตยของไทยอยู่หรือไม่” ประเด็นนี้ทำให้คิดต่อได้ว่า ขนาดประเทศซาอุดิอาระเบียยังมีวิธีการลงโทษที่ไม่ร้ายแรงเท่านี้ คำถามทำนองนี้ได้ไปเน้นย้ำถึงแนวโน้มที่วิธีการของศาลที่เป็นอยู่จะสร้างปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ มันสะท้อนว่าศาลกำลังเทิดทูนสถาบันกษัตริย์จนไปละเมิดหลักการประชาธิปไตยที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ

การรักษาสถาบันกษัตริย์ ปะทะกับหลักการประชาธิปไตย: ภาวะวิกฤตทางรัฐธรรมนูญไทย

ในปัจจุบันคำอธิบายของศาลรัฐธรรมนูญมักจะเน้นอยู่ที่สองประเด็น ประเด็นแรก ประชาธิปไตยถูกนิยามว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนและองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะประมุขของรัฐ สองอำนาจนี้ร่วมกันในการสร้างรัฐให้อยู่ในรูปแบบราชอาณาจักร ฐานคิดเช่นนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นการรักษาสมดุลระหว่างหลักการประชาธิปไตยกับการเคารพสถาบันกษัตริย์ อย่างไรก็ตาม คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญได้ทำลายสมดุลนี้และได้เน้นถึงความสำคัญมากกว่าของสถานะขององค์พระมหากษัตริย์ สิ่งนี้นำไปสู่ความไม่สมดุล ซึ่งแสดงออกมาอย่างชัดเจนผ่านการที่รัฐพึ่งพาการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อลงโทษต่อสิ่งใดก็ตามที่ลดทอนสถานะของสถาบันกษัตริย์

กฎหมายอาญามาตรา 112 หรือที่รู้จักกันในนามกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ กำหนดโทษสูงสุดถึง 15 ปีสำหรับการดูหมิ่น, หมิ่นประมาท, และอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์, พระราชินี, องค์รัชทายาท, และผู้สำเร็จราชการแทน วิธีการใช้กฎหมายแบบนี้รุนแรงและไม่อยู่ในมาตราฐานที่ทั่วโลกเป็นกัน แม้แต่รัฐอำนาจนิยมอย่างซาอุดิอาระเบียยังกำหนดโทษที่ไม่รุนแรงเท่านี้ ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีสถาบันประชาธิปไตยแข็งแกร่งอย่างนอร์เวย์และสวีเดนก็สามารถรักษาสมดุลทางกฎหมายในการคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ได้ดีกว่านี้ ประเทศเหล่านี้ยังปกป้องสถาบันกษัตริย์ แต่ประชาชนก็มีเสรีภาพในการแสดงออกแทนที่จะถูกปราบปรามจากการวิพากษ์วิจารณ์ การที่ประเทศไทยมีกฎหมายที่ลงโทษรุนแรงเช่นนี้เผยให้เห็นถึงปัญหาของระบบกฎหมายของไทยที่เสมือนว่าประเทศอย่างชัดเจนว่าให้ความสำคัญกับการเชิดชูสถาบันกษัตริย์เหนือเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย

มาตรา 112: ภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตย

 เมื่อศาลตัดสินคดียุบพรรคจากเหตุผลเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 โดยไม่สามารถเชื่อมโยงกับหลักการทางกฎหมายได้ทำให้ปัญหาของมาตรา 112 แย่ลงไปอีก การที่ศาลพยายามรักษาสถานะที่องค์พระมหากษัตริย์จะละเมิดมิได้ ยิ่งทำให้ศาลละเลยหลักการประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ปัญหาเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วคราว แต่เป็นปัญหาเชิงระบบที่ฝังรากลึกยาวนาน การที่ศาลไม่สามารถอธิบายเหตุผลทางกฎหมายได้นั่นเท่ากับว่าสิ่งนี้เป็นการทำลายหลักการความโปร่งใสและรับผิดรับชอบ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของกลไกการทำงานของระบอบประชาธิปไตย สิ่งนี้มันสะท้อนว่าศาลให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพของสถาบันกษัตริย์มากกว่าการคงไว้ซี่งคุณค่าทางประชาธิปไตย

คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อไม่นานมานี้ได้สร้างความกังวลเกี่ยวกับความเป็นกลางและความเป็นอิสระของศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องทางการเมือง เช่น ศาลถูกวิจารณ์อย่างหนักจากการที่ศาลตัดสินในคดียุบพรรคก้าวไกลว่าจะไม่ให้มีการไต่สวนและบอกเพียงว่าหลักฐานเพียงพอแล้ว กรณีนี้เป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดีว่าคำตัดสินของศาลถูกมองว่าขาดการวิเคราะห์เชิงกฎหมายอย่างละเอียดและดูเหมือนว่าจะตัดสินเพื่อเป้าหมายทางการเมืองมากกว่าที่จะยึดอยู่กับหลักการทางกฎหมาย

กรณีนี้เป็นที่รับรู้มาอย่างยาวนานว่าศาลก็กระทำแบบนี้มาตลอด คดียุบพรรคการเมืองในอดีตก็มีกรณีที่บางพรรคการเมืองถูกยุบด้วยเหตุผลว่าทำเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ ศาลอ้างเหตุผลแบบนี้โดยไม่ได้ใส่ใจว่าจะส่งผลร้ายต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างไร การอ้างถึงสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของสถาบันกษัตริย์ซ้ำ ๆ โดยไม่คำนึงถึงอำนาจอธิปไตยของประชาชนสะท้อนว่านี่คือปัญหาเชิงระบบของศาล คำตัดสินของศาลดูเหมือนว่าจะมองประเด็นเชิงสัญลักษณ์สำคัญกว่าเรื่องสาระสำคัญทางกฎหมาย กล่าวคือศาลส่งเสริมหลักการครอบงำของสถาบันกษัตริย์มากกว่าที่จะสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ความเงียบงันของศาล: การบ่อนเซาะความน่าเชื่อถือของสาธารณชน

ข้อบกพร่องของระบบศาลถูกเผยออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน เมื่อศาลที่มีอำนาจสูงสุดให้ความสำคัญกับการเคารพสถาบันกษัตริย์เหนือกว่าหลักการประชาธิปไตย สิ่งนี้เป็นภัยต่อหลักการนิติรัฐอย่างชัดเจน มันมีนัยยะว่าคำตัดสินของศาลอยู่เหนือการตรวจสอบและมีผลกระทบโดยตรงสาระสำคัญของประชาธิปไตย ซึ่งต้องทำให้กฎหมายทุกฉบับและสถาบันการเมืองทุกสถาบันอยู่ภายใต้การตรวจสอบและปฏิรูปตามเจตนารมณ์ของประชาชน

ยิ่งไปกว่านั้น สภาวะไม่สมดุลระหว่างการคุ้มครองสถาบันและหลักการประชาธิปไตยทำลายความเชื่อถือของสาธารณชนต่อองค์กรตุลาการ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง ความชอบธรรมองค์กรตุลาการก็จะลดลง อำนาจตุลาการถูกคาดหวังว่าจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยทางกฎหมายที่มีอิสระ แต่การที่ศาลไม่สามารถสร้างความโปร่งใสและอธิบายเหตุผลทางกฎหมายได้อย่างชัดเจนเสมอมา เรื่องนี้มันบ่งชี้ว่าศาลถูกสงสัยว่าได้รับแรงกดดันจากภายนอกโดยเฉพาะฝ่ายที่ต้องการจะรักษาสถานะของสถาบันกษัตริย์ให้คงไว้แบบนี้ ความรับรู้ของสาธารณชนแบบนี้ทำลายความเชื่อถือของสาธารณชนในระบบกฎหมายและทำลายหลักการนิติรัฐ

การลงโทษอย่างรุนแรงจากการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ยิ่งทำให้ปัญหานี้แย่ลงไปอีก โทษของกฎหมายฉบับนี้สุดโต่งเกินไปซึ่งต่างกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกเป็นอย่างมาก สิ่งนี้สะท้อนว่าศาลกระตือรือร้นอย่างผิดปกติในการแสดงบทบาทในการปกป้องสถาบันกษัตริย์ การกระทำแบบนี้ไม่ใช่แค่การทำลายเสรีภาพในการแสดงออก แต่มันยังไปสร้างความกลัวและทำให้คนเซ็นเซอร์ตัวเอง ในสังคมประชาธิปไตยอย่างประเทศที่ปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญทั้งนอร์เวย์และสวีเดนให้สิทธิขั้นพื้นฐานประชาชนในการวิจารณ์และตั้งคำถามต่อทุกสถาบันโดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์ การลงโทษอย่างไม่ได้สัดส่วนของมาตรา 112 ทำลายหลักการสำคัญในระบอบประชาธิปไตย

แม้แต่ในรัฐอำนาจนิยมอย่างซาอุดิอาระเบียยังไม่มีกฎหมายที่โทษรุนแรงแบบนี้ มันสะท้อนว่ากฎหมายมาตรา 112 ลงโทษอย่างไม่ได้สัดส่วน แม้ว่ามาตรา 112 จะอ้างว่ามีไว้เพื่อรักษาพระเกียรติของสถาบันกษัตริย์ ทว่าความเป็นจริงมันถูกใช้เพื่อกดปราบความไม่พอใจของประชาชนและรักษาสถานะทางอำนาจของชนชั้นนำ สิ่งนี้ขัดกับหลักการทางประชาธิปไตยที่ต้องเปิดให้มีการถกเถียงอย่างเปิดกว้างและให้เสรีภาพในการแสดงออก มันยิ่งสะท้อนว่าระบบกฎหมายในประเทศไทยมีปัญหาเพียงใด

เมื่อมองเช่นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถอธิบายประเด็นทางกฎหมายได้อย่างละเอียดและวนเวียนอยู่กับการยกย่องสถาบันกษัตริย์ สิ่งนี้สะท้อนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่กระบวนการที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น แต่มันสะท้อนถึงประเด็นเชิงหลักการที่เป็นภัยต่อประชาธิปไตยในประเทศไทย สภาวะอสมดุลเช่นนี้ทำลายทั้งความเชื่อถือของสาธารณชน กดทับเสรีภาพในการแสดงออกและลดทอนหลักการนิติรัฐ หากศาลจะทำให้เรื่องนี้ถูกต้องศาลต้องมีวิธีที่สมดุลกว่านี้ในการรักษาทั้งสถานะของสถาบันกษัตริย์และหลักการประชาธิปไตย สิ่งที่ศาลควรทำคือแทนที่จะวนเวียนอยู่กับการอธิบายว่ากษัตริย์จะละเมิดมิได้ ศาลควรจะทำให้คำตัดสินโปร่งใสและมีเหตุผลอย่างละเอียดในเชิงหลักการทางกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับหลักการอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายอาญามาตรา 112 จำเป็นต้องถูกปรับปรุงให้เขากับมาตรฐานสากลระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองพระเกียรติของสถาบันกษัตริย์โดยที่ไม่ทำลายหลักการประชาธิปไตย

ท้ายที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญต้องรับมือกับข้อวิพากษ์เหล่านี้ ถ้าหากว่าศาลยังต้องการมีบทบาทในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยที่เป็นอิสระและเป็นผู้คุ้มกันประชาธิปไตยในประเทศไทย ความเงียบงันของศาลและความไม่โปร่งใสทำให้สาธารณชนไม่เชื่อถือศาลและทำให้หลักการนิติรัฐอ่อนแอลง เพื่อที่จะรักษาความชอบธรรมและความน่าเชื่อถือ ศาลต้องให้ความสำคัญต่อการเปิดกว้างและตรวจสอบได้ สิ่งนี้จะทำให้คำตัดสินของศาลชอบธรรมและแสดงให้เห็นว่าศาลยึดมั่นต่อความเป็นธรรม ถ้าศาลยังหลีกเลี่ยงที่จะรับผิดชอบกับหน้าที่อันสำคัญเหล่านี้ มันจะไม่เพียงแต่ทำลายความเชื่อมั่นของสาธารณชน แต่มันจะทำลายรากฐานอันสำคัญที่สุดของประชาธิปไตยของประเทศไทย นี่คือเวลาที่ศาลต้องทำอะไรบางอย่าง หากศาลไม่สามารถทำตัวเองให้โปร่งใสและเที่ยงธรรม มันจะจะสร้างหายนะให้กับภาพรวมของประชาธิปไตยของชาติไทย

Prem Singh Gill

Prem Singh Gill เป็น visiting scholar ที่ Universitas of Muhammadiyah Yogyakarta และที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Banner: Bangkok, Thailand - November 2, 2022 : The Constitutional Court of The Kingdom of Thailand. Photo: SirichaiKeng, Shutterstock

 

Site artwork by PrachathipaType

Contact Us  |  © 2024, 112Watch

Scroll to Top