Freedom

ผลกระทบร้ายแรงจากการจับกุม ดร. พอล แชมเบอร์ส ภายใต้มาตรา 112

การเพิกเฉยต่อชะตากรรมของแชมเบอร์สจะเป็นความเสียหายร้ายแรง นักวิชาการไทยและนานาชาติ นักศึกษา และสาธารณชนไม่ควรปล่อยให้เรื่องนี้หายไปจากหน้าสื่อ
April 14, 2025

การกล่าวหาเรื่องการละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มงวดของประเทศไทยไม่เกิดขึ้นบ่อยนักก่อนหน้านี้ ทั้งในกรณีของชาวไทยและชาวต่างชาติ เมื่อใดที่ชาวต่างชาติถูกตั้งข้อหา ก็มักจะกลายเป็นข่าวใหญ่ในสื่อ ตัวอย่างเช่นกรณีของชายชาวสวิตเซอร์แลนด์ที่อยู่ในอาการมึนเมาและทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระองค์ อย่างไรก็ตาม เขาได้รับการลดโทษและในเวลาต่อมาก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หลังจากที่เขายอมรับผิดอย่างเปิดเผย ต่อมาอีกไม่กี่ปี นักเขียนชาวออสเตรเลียรายหนึ่งก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จากบทประพันธ์ของเขา และถูกพิพากษาจำคุก แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษในอีกเจ็ดเดือนต่อมา ความสำนึกผิดและการยอมรับผิดต่อสาธารณะมักเป็นกุญแจสำคัญในการได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด

ก่อนหน้านั้น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแทบไม่ได้ถูกนำมาใช้ ยกเว้นในบางกรณีเท่านั้น ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเคยมีพระราชดำรัสในปี พ.ศ. 2548 ว่า “ถ้ากษัตริย์ทำอะไรผิดไม่ได้ ก็เป็นการดูถูก เพราะว่าไม่ได้ถือว่าเป็นมนุษย์แล้ว กษัตริย์ก็ทำผิดได้” อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้เปลี่ยนไปหลังจากการรัฐประหารในปี 2549 เมื่อกองทัพเริ่มแสดงบทบาทของตนในฐานะ “ผู้พิทักษ์ราชบัลลังก์” และเป็นกลไกสำคัญในสิ่งที่ถูกขนานนามว่าเป็น “รัฐคู่ขนาน” ที่สถาบันทรงอิทธิพลต่างๆ ใช้เป็นประโยชน์ภายใต้กฎเกณฑ์ที่คลุมเครือ ไม่เป็นทางการ และซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากของระบอบประชาธิปไตย และเมื่อพระพลานามัยของรัชกาลที่ 9 เริ่มย่ำแย่ กองทัพก็ยิ่งเข้ามามีบทบาทในการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในฐานะอาวุธทางการเมืองมากยิ่งขึ้น

นักวิชาการก็กลายเป็นเป้าหมายเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป เช่น อ. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ถูกดำเนินคดีจากการเสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และ ดร. ใจ อึ๊งภากรณ์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องลี้ภัยออกจากประเทศไทยหลังตีพิมพ์หนังสือ A Coup for the Rich ในปี พ.ศ. 2550

สนับสนุน ดร. พอล แชมเบอร์ส: โปรดลงชื่อที่ change.org/p/free-dr-paul-chambers

ดร. พอล แชมเบอร์ส คือหนึ่งในนักวิชาการผู้วิเคราะห์สถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง รวมถึงการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่อำนาจยาวนานกว่า 9 ปี หนึ่งในผลงานที่ทรงพลังของเขาคือแนวคิดเรื่อง “monarchised military” ที่ชี้ให้เห็นว่ากองทัพไทยผูกโยงกับสถาบันกษัตริย์ทั้งในเชิงวัฒนธรรม ศาสนา และสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นกลไกในการขยายและทำให้บทบาทของกองทัพมีความชอบธรรม

มาตรา 112 กลายเป็นกลไกสำคัญในการปกป้องบทบาทของกองทัพในฐานะ “ผู้พิทักษ์” สถาบัน ตัวเลขสะท้อนชัดเจนว่า ก่อนการรัฐประหารปี 2549 คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีไม่ถึง 5 คดีต่อปี แต่หลังปี 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 2,000 คน รวมถึงการใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปราบปรามความเห็นต่าง ในช่วงเวลาที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง เช่น ขณะที่พระพลานามัยของรัชกาลที่ 9 ทรุดลง หรือระหว่างการประท้วงบนท้องถนนในปี 2563 ที่วิจารณ์การบริหารเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล การลงโทษก็ทวีความรุนแรงขึ้น ตัวอย่างในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ข้าราชการบำนาญวัย 65 ปี ถูกตัดสินโทษจำคุก 87 ปี (ภายหลังลดโทษเหลือเกือบ 44 ปี) ถือเป็นโทษที่หนักที่สุดเท่าที่เคยมีมา แม้แต่เยาวชนก็ไม่รอดพ้นจากการดำเนินคดี เช่นเดียวกับทนายสิทธิมนุษยชน นายอานนท์ นำภา ที่ถูกจำคุกจากการชุมนุมในธีมแฮร์รี่ พอตเตอร์ในปี 2563

การจับกุม ดร. แชมเบอร์ส ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่อาจสร้างผลกระทบมหาศาลต่อเสรีภาพทางวิชาการในประเทศไทย มาตรา 112 กำลังถูกทำให้กลายเป็นเรื่อง “ปกติ” ท่ามกลางบทลงโทษที่โหดร้ายยิ่งขึ้น กรณีของ รักชนก ศรีนอก อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล (ปัจจุบัน ส.ส. พรรคประชาชน) วัย 29 ปี ที่ถูกจำคุก 6 ปีจากการรีทวีตข้อความวิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพราะผู้ผลิตวัคซีนมีความเกี่ยวพันกับพระมหากษัตริย์ นับเป็นตัวอย่างของความร้ายแรงที่ไม่ควรถูกลืม เดิมที ดูเหมือนว่าชาวต่างชาติจะได้รับการยกเว้นจากการดำเนินคดี ทว่าทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลง ดร.เดวิด สเตร็คฟัส ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรา 112 ก็เคยถูกยกเลิกวีซ่าและถูกปลดออกจากตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น แม้เขาไม่ถูกขับออกจากประเทศก็ตาม

แต่ในขณะนี้ กองทัพบกไทยกำลังเล็งเป้าไปยัง ดร. แชมเบอร์ส นักวิชาการที่พวกเขาจับตาอย่างใกล้ชิดมานาน หนังสือเล่มล่าสุดของเขา Praetorian Kingdom ซึ่งวิเคราะห์บทบาทของกองทัพไทยในการผูกโยงตนเองเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้มีอำนาจ อีกทั้งผลงานวิจัยของเขาเรื่อง “ทุนนิยมสีกากี” ก็ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในแวดวงวิชาการและสาธารณชน

เช่นเดียวกับกรณีของสเตร็คฟัส ข้อกล่าวหาต่อแชมเบอร์ส ก็มีมูลอ่อนมาก เนื่องจากอิงจากเพียงคำอธิบายสั้น ๆ ของกิจกรรมงานเขียนทางวิชาการที่เขาเข้าร่วมเมื่อปีก่อน ซึ่งเขาไม่ได้เป็นผู้เขียนด้วยตนเอง เรื่องนี้จึงเป็นความพยายามในการข่มขู่และปิดกั้นไม่ให้เขาทำงานในประเทศไทย การเนรเทศเขาจะถือเป็นชัยชนะของกองทัพไทย แต่เป็นหายนะสำหรับนักวิชาการชาวต่างชาติในประเทศ หากแชมเบอร์สถูกทำให้เงียบเสียง แล้วใครจะเป็นรายต่อไป ในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางวิชาการในสังคมไทย ซึ่งคนส่วนใหญ่แสดงออกอย่างชัดเจนในเดือนพฤษภาคม 2566 ว่าต้องการประชาธิปไตยที่มากขึ้น การเพิกเฉยต่อชะตากรรมของแชมเบอร์สจะเป็นความเสียหายร้ายแรง นักวิชาการไทยและนานาชาติ นักศึกษา และสาธารณชนไม่ควรปล่อยให้เรื่องนี้หายไปจากหน้าสื่อ

ขณะนี้มีการล่ารายชื่อเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาภายใต้มาตรา 112 และคืนวีซ่าให้ ดร. พอล แชมเบอร์ส เพื่อที่เขาจะได้กลับมาทำงานวิชาการที่เขาทำได้ดีที่สุด งานของเขานั้นทรงคุณค่ายิ่งต่อนักวิชาการ นักวิเคราะห์ และสื่อมวลชน เขาควรอยู่ในห้องเรียนและโต๊ะทำงาน

มาร์ค เอส โคแกน มหาวิทยาลัยคันไซไกได
Associate Professor of Peace and Conflict Studies at Kansai Gaidai University

Download 112Watch Statement

 

Site artwork by PrachathipaType

Contact Us  |  © 2024, 112Watch

Scroll to Top