Photo: Thai Lawyers for Human Rights

มุมมองจากเยาวชนไทยเรื่องตะวันและแบม

14 มิถุนายน 2566

นานา ทาชิโระ เยาวชนไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นิวซีแลนด์

ในฐานะเยาวชน ฉันพร่ำถามตัวเองว่าฉันคิดอย่างไรกับสถานการณ์ของตะวันและแบม

ในฐานะผู้ที่มีอายุ 21 ปี และเคยใช้ชีวิตเติบโตในประเทศไทยเป็นเวลา 17 ปี ฉันถูกสอนในโรงเรียนว่า “ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและมีระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ของฉันแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในช่วงชีวิตของฉัน ฉันได้เห็นการทำรัฐประหารมาแล้วถึงสองครั้ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ฉันรู้สึกว่าฉันถูกปิดปาก เช่นเราไม่สามารถพูดเกี่ยวกับเรื่องบางเรื่อง อย่างเช่นเรื่องเกี่ยวกับทหาร คณะรัฐประหาร หรือสถาบันกษัตริย์ได้ เนื่องจากยังเป็นเรื่องที่พูดถึงไม่ได้ จนตัวเราต้องเซนเซอร์ตัวเอง ข้อจำกัดเช่นนี้ ประกอบกับการโฆษณาชวนเชื่อที่ฉันซึมซับเข้าไปส่งผลต่อความเข้าใจของฉันต่อประเทศไทยในช่วงที่ฉันตัดสินใจมาเรียนต่อในปี 2561

Nana Tashiro

ในปี 2563 การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เกิดขึ้นในประเทศไทยจากการประท้วงต่อต้านการรัฐประหารที่เริ่มจากเยาวชน ในฐานะคนไทย ฉันรู้สึกมีหวังว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะมีเสรีภาพทางการเมืองและวาทกรรมเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยและกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เยาวชนและประชาชนชาวไทยที่มุ่งมั่นจะขยายสิทธิและเสรีภาพของตัวเองกลับต้องเผชิญกับความรุนแรงและการลงโทษจากรัฐ แน่นอนว่าภายใต้มาตรา 112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ปัจเจกอาจถูกคุมขังถึง 15 ปีจากการ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทน”

คนรุ่นใหม่ที่มีอายุไล่เลี่ยกับฉันอย่างเช่นตะวันและแบม ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรา 112 ทั้งสองคนเสียสละสิทธิในการประกันตัวหลังจากถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพียงเพราะทำโพลสาธารณะเกี่ยวกับขบวนเสด็จ จนทำให้ทั้งคู่ต้องกลับเข้าเรือนจำ ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม ทั้งสองคนเริ่มอดข้าวและน้ำ เพื่อเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยุติการดำเนินคดีความที่เป็นคดีทางการเมือง และให้พรรคการเมืองทุกพรรคเสนอนโยบายที่ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วยการยกเลิกมาตรา 112 และ 116” นอกจากนี้ ในกระบวนการประกันตัว คนรุ่นใหม่จำนวนมากซึ่งถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จำเป็นต้องใส่กำไลไฟฟ้าและต้องอยู่ภายใต้การควบคุมตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการกักบริเวณ

หลังจากฉันรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของตะวันและแบม ปฏิกิริยาแรกของฉันมีแต่ความโกรธเกรี้ยว เหตุใดสิทธิมนุษยชนพื้นฐานเช่นเสรีภาพในการแสดงออกจึงถูกละเมิดเพียงเพราะมีการพูดถึงสถาบันกษัติรย์ ทำไมคนรุ่นใหม่จำนวนมากถึงต้องสละสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ ทั้งๆ ที่พวกเขาควรจะได้ใช้เวลาเจริญเติบโตในรั้วมหาวิทยาลัยหรือใช้เวลาที่มีคุณภาพกับครอบครัวและเพื่อน เหตุใดกระบวนการยุติธรรมของไทยจึงต้องลงโทษเด็กหญิงทั้งสองคนและคนอื่นๆ ที่ใช้สิทธิของพวกเขาอย่างสันติด้วย

คนจำนวนมากแสดงความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 เนื่องจากมาตราดังกล่าวเปิดโอกาสให้มีการตีความอย่างหย่อนยาน ซึ่งหมายความว่าเจ้าหน้าที่สามารถใช้มาตราดังกล่าวเพื่อให้โทษและกล่าวหาประชาชนได้ ตามข้อมูลของ iLaw มีประชาชนอย่างน้อย 10 คนถูกจับกุมภายใต้มาตรา 112 ระหว่างปี 2565 และ 2566 ในจำนวนนี้มีเยาวชนอย่างเช่นใบปอ (20) และเก็ต (23) ซึ่งถูกกล่าวหาด้วยมาตราดังกล่าวและต่อมาถูกปฏิเสธการประกันตัวเนื่องจากร่วมประท้วงระหว่างการประชุมสุดยอดเอเปคเมื่อปี 2565 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจของไทยสามารถใช้มาตรา 112 กับใครก็ตามที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านรัฐบาลหรือสถาบันกษัตริย์ไทย เช่นนั้นแล้ว แม้แต่เยาวชนซึ่งรัฐต้องปกป้องก็อาจได้รับความผิดจากการแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเทศและอนาคตของพวกเขาได้เช่นกัน

ฉันไม่สนับสนุนการตัดสินใจของตะวันและแบมในการอดอาหารและน้ำอย่างเต็มที่ เนื่องจากการตัดสินใจดังกล่าวอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อสุขภาพของทั้งคู่ได้ โดยเมื่อวันที่ 25 มกราคม ตะวันและแบมถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ฉันก็ไม่อาจเมินเฉยหรือด้อยค่าการตัดสินใจหรือความพยายามเพื่อที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองในระบบอันอยุติธรรมนี้ได้ ในฐานะเยาวชนคนไทย ฉันรู้สึกอัปยศเป็นอย่างยิ่งที่ฉันไม่สามารถจะทำอะไรนอกเหนือจากเขียนบทความชิ้นนี้จากประเทศที่เคารพเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก (ไม่เหมือนกับประเทศไทย) ได้

ในฐานะเยาวชน เราไม่มีเครื่องมือในการต่อต้านมาตรา 112 นอกจากชีวิตและร่างกายของพวกเรา เช่นที่ตะวันเคยกล่าวเอาไว้ว่า “ถ้าพี่มัวแต่กลัว แล้วเมื่อไรสังคมมันจะเปลี่ยนแปลง มันยาก แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้” ฉันหวังว่าการต่อสู้ในบทนี้จะแสดงให้เห็นถึงปัญหาของมาตรา 112 ที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองชาวไทย อันรวมถึงคนรุ่นใหม่ที่บริสุทธิ์จำนวนมาก ที่ออกมาแสดงความเห็นและใช้เสรีภาพของตัวเองอย่างสันติ และเชื่อในประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

ท้ายสุดนี้ ฉันหวังว่าประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และมีประชาธิปไตยที่แท้จริงในวันใดวันหนึ่ง เป็นประเทศที่ฉันคิดว่ามันเป็นตอนเรียนประถม-มัธยม

Volunteers Needed for 112WATCH Project to help 112Watch and its partners accomplish critical research and advocacy. Find out more here.

Sorry, we couldn't find any posts. Please try a different search.

 

Site artwork by PrachathipaType

Scroll to Top